วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558

ทำไมเข้าที่หนึ่งทำไมเราเกือบโหล ?

คอลัมน์ Education Ideas โดย วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์
ฟินแลนด์ ประเทศเล็ก ๆ ในยุโรปตอนบน มีประชากรประมาณห้าล้านคน ทั้งยังเป็นประเทศที่มีความจริงจังมากในด้านการพัฒนาคุณภาพคน เพราะคนที่นี่มีคุณภาพ มีชีวิตความเป็นอยู่ดี มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อยมาก เพราะมีการเก็บภาษีสูง และมีการพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง

ในการสำรวจประเมินผลคุณภาพการศึกษา โดยองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา ซึ่งใช้รูปแบบการวัดผลที่เน้นวัดความรู้ในการแก้ปัญหา และการใช้ภาษาของสมาชิกกลุ่ม OECD ที่ชื่อ PISA (ProgramFor International Student Assessment) นักเรียนของฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นนักเรียนที่มีคุณภาพที่สุดในโลกติดต่อกันมาโดยตลอด

สิ่งที่น่าแปลกคือการจัดการศึกษาของเขากับของเรามันช่างตรงกันข้ามแทบทุกเรื่อง

1.ที่ฟินแลนด์ ผู้ปกครองจะให้เด็กเรียนเมื่ออายุหก-เจ็ดขวบ เขาไม่เน้นโรงเรียนอนุบาล เพราะอยากให้เด็กอยู่กับครอบครัว เขาเชื่อว่าครอบครัวให้ความรัก ความรู้ และถ่ายทอดวัฒนธรรม สร้างสิ่งดีงามให้เด็กได้ดีกว่าโรงเรียนอนุบาล ส่วนบ้านเรา แข่งกันเข้าอนุบาล เดี๋ยวนี้มีติวเข้าอนุบาลกันแล้ว เพราะเขารู้ว่าการศึกษาคือเรื่องของการพัฒนาคน ไม่ใช่แค่การส่งลูกเข้าโรงเรียน

2.เด็กที่นี่ (ฟินแลนด์) เรียนไม่เกินวันละห้าชั่วโมง (ในระดับประถม)
 ด้วยแนวคิดที่จะให้เด็กมีเวลาทำสิ่งที่ชอบ กิจกรรมที่สนใจ ส่วนเด็กไทย อัดกันเข้าไป จนไม่เหลือเวลาให้คิด ค้นหา และเรียนรู้เรื่องที่ตนสนใจ

3.ห้องเรียนเขากำหนดให้มีเด็กห้องละ 12 คน มากสุดก็ 20 คนครับ โรงเรียนยิ่งดี ยิ่งจำกัดจำนวนเด็กต่อห้อง เพราะเขาจะพัฒนาคน และคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เขาอยากพัฒนาศักยภาพเด็กแต่ละคน เด็กได้คิด พูด นำเสนอ แม้การสอบ ข้อสอบของเด็กในห้อง บางทีก็ต่างกันเขาไม่ได้สอบเพื่อแข่งขัน แต่ใช้เพื่อพัฒนาเด็กแต่ละคน การดูแลเป็นรายคนจึงสำคัญ ส่วนของเรา บางโรง ห้องละ 50 คนครับ

4.ฟินแลนด์ ไม่ให้เกรดเฉลี่ยมาเป็นตัวสร้างความภูมิใจ หรืออับอายให้เด็ก การเรียนคือการพัฒนาแต่ละคน ไม่ใช่การแข่งขัน เขาจะส่งผลการเรียนให้เฉพาะตัว ไม่มีการประกาศ ที่สำคัญ เขาไม่มีเกรดเฉลี่ยครับ

5.การสอบ เขาจะไม่ใช้ข้อสอบมาตรฐาน มาเป็นตัววัดนักเรียนทั้งประเทศ
 เขาให้โรงเรียนกำหนดข้อสอบที่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโรงเรียน ส่วนเราทำตรงกันข้ามกับเขาเลยครับ เอาข้อสอบเดียวกันไปวัดเด็กทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม เป็นมาตรฐานเดียวกัน

แนวคิดเรื่องมาตรฐานนี้ น่าจะใช้กับการผลิตสินค้า แต่โรงเรียนไม่ใช่โรงงานผลิตคนครับ การศึกษาไม่ใช่อุตสาหกรรม

6.เขาจ้างผู้อำนวยการมาบริหารโรงเรียน และให้กรรมการโรงเรียนดูแล ผลงานไม่ดีเชิญออกได้ เขาไม่ได้ใช้ระบบราชการ ระบบวิ่งเต้นเอาใจนักการเมือง เอาใจผู้ใหญ่ในกระทรวงมากำหนดผู้บริหารโรงเรียน

ส่วนบ้านเราก็อย่างที่เห็น ปกติที่ทำกันมาคือใครมีอายุราชการนาน ก็ย้ายไปโรงเรียนใหญ่ขึ้น หรือบางทีก็ถูกย้ายเพราะทำงานบกพร่อง ให้ย้ายไปโรงเรียนเล็ก โรงเรียนไกล อ้าว ถ้าบกพร่องแล้วย้ายไป โรงเรียนเล็ก โรงเรียนไกล เด็กโรงเรียนเล็ก ครูโรงเรียนเล็ก ไม่มีค่าควรพัฒนาหรือครับ ก็ต้องรับเคราะห์ สิครับ

โรงเรียนเขาจึงมีคุณภาพ เพราะการกระจายอำนาจ ไม่มีใครรักเด็กนักเรียนเท่าพ่อแม่ และครูที่โรงเรียนหรอกครับ ก็เราทำตรงข้ามที่หนึ่ง แทบทุกเรื่อง มันถึงเป็นที่โหล่

7.อาชีพครูที่ฟินแลนด์ เป็นอาชีพที่มีรายได้สูงมาก เงินเดือนเฉลี่ยมากกว่าอาชีพอื่น ๆ และสถานะทางสังคมก็ดี ความใฝ่ฝันของเด็ก ๆ หลายคนคืออยากเป็นครู ประเทศเล็ก ๆ นี้ จึงมีคนตั้งใจอยากเป็นครูกันเยอะ คนที่เก่งที่สุดของประเทศจะแข่งกันเป็นครู และครูทุกคนจะต้องจบการศึกษาด้านครูในระดับปริญญาโท

ส่วนใครเรียนด้านอื่นต้องไปต่อปริญญาโทด้านครูจึงมาสมัครสอนได้ ครูที่นี่มีความสุขครับ เพราะฐานะดี สอนก็น้อย มีวันหยุดยาว ๆ ครูจึงมีเวลา อบรมพัฒนาตัวเอง มีเวลาทำกิจกรรมแบ่งปันสู่สังคมเยอะครับ ไม่ต้องมาทำกวดวิชา ทำขนมขาย หรือขายตรง ขายประกัน ครูบ้านเรา รายได้น้อย ยังต้องดิ้นรน หลายท่านเอาตัวเองแทบไม่รอด ยังมาเจอภาระงานประหลาด ๆ การวัดกระดาษมากมายจากโรงเรียน

หลายท่านบ่นว่าช่วงปิดเทอมบางทีก็ไม่ได้หยุด แล้วจะมีความสุข ความหวังอะไรมาถ่ายทอดสู่เด็กล่ะครับ ก็เหลือและหวังได้แต่หัวใจครูเท่านั้นแหละ

หวังว่าความต่างกันในการจัดการศึกษานี้น่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาบ้านเราได้นะครับ

บทความจาก http://www.prachachat.net/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น